ยินดีต้อนรับ

ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ธรรม มหัศจรรย์ และอจินไตย

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

(003) อัศจรรย์ "อุบายธรรม" สอนศิษย์ (หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร)


หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร
ดร.นนต์ ถ่ายภาพ เมื่อคราวร่วมธุดงค์สัญจรภาคเหนือ เป็นครั้งแรก
ณ อ่างเก็บน้ำดอยม่อนธาตุ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง   8 เมษายน 2555

🔹 อัศจรรย์ "อุบายธรรม" สอนศิษย์ 🔹

🔹 หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร 🔹


🔶 สภาวธรรมบังเกิดแก่บุรุษเป็นครั้งแรก 🔶

ภายใต้บารมีธรรมของหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร


        🔹 ท่านทั้งหลาย "บุรุษผู้หนึ่ง" หลังจากได้กราบขอเป็นศิษย์หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร พระผู้สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว แห่งวัดโคกปราสาท ในช่วงปลายปี 2554  ในปีถัดมา จึงมีโอกาสได้ติดตามหลวงพ่อ ออกธุดงค์สัญจรทางภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2555 ซึ่งนับเป็นการปฏิบัติธรรมสัญจร "เป็นครั้งแรก" ของบุรุษผู้นี้ ภายใต้บารมีธรรมของหลวงพ่อ และได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อหาที่สุดมิได้ ดังเหตุการณ์อัศจรรย์ต่างๆ ที่ได้บังเกิดขึ้นแก่บุรุษผู้นี้แล้ว ดังนี้

🔹1🔹 🔶 ปริศนา ดวงสว่าง 🔶

          ณ ค่ำคืนแรก วันที่ 5 เมษายน 2555  หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร และคณะศิษย์วัดโคกปราสาท ต.หลุ่งตะเคียน อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ได้พักภาวนา ณ บริเวณถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ หลังจากหลวงพ่อได้แสดงธรรม พาสวดมนต์ และภาวนาแล้ว ในราวเที่ยงคืน ขณะที่บุรุษผู้หนึ่งนั่งภาวนาอยู่ในเต็นท์ตามอัธยาศัย ด้วยจิตใจที่เบาสบาย ขณะเดียวกัน ได้มีบางสิ่งเกิดขึ้นเป็นอัศจรรย์ โดยมีญาติธรรมบางท่าน เห็นดวงไฟสว่างลอยอยู่ในเต็นท์ของบุรุษผู้นั้น อยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงเลือนหายไป ต่างก็ได้แต่สงสัย เพราะไม่ทราบว่าเป็นแสงอะไร 

           🔹 "หลง" แล้ว "ละ" 🔹
           🔹 สีลัพพตปรามาส 🔹 

           อย่างไรก็ตาม... มาทราบจากหลวงพ่อที่เล่าให้ลูกศิษย์ฟังในภายหลังว่า วันนั้น หลวงพ่อตั้งใจจะปราบ ดร. ผู้พึ่งเป็นลูกศิษย์ใหม่ให้ลงใจ ด้วยการแสดงธรรมพิเศษ เกี่ยวกับการยึดติดในพระเครื่อง ที่เขายังหลงใหลและสะสมอยู่  โดยอาศัยเหตุการณ์หลังจากที่บุรุษผู้นี้ ได้แบกสัมภาระพะรุงพะรัง ไต่บันไดที่สูงชันขึ้นไปยังถ้ำวัวแดง ด้วยอาการเหนื่อยหอบ และก็ไปถึงเป็นคนเกือบสุดท้าย อย่างทุลักทุเล 

            เมื่อหายเหนื่อยแล้ว บุรุษผู้นี้ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อท่ามกลางลูกศิษย์หลายสิบคน พอนั่งลง หลวงพ่อได้มองหน้าแล้วยิ้ม พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า... "เป็นไงด็อกเตอร์ เหนื่อยมากใช่ไหม?"... เขาตอบว่า... "ข้าน้อย"... หลวงพ่อเมตตาเอ่ยต่อไปว่า... "มันเหนื่อยมาก เพราะให้พระขี่คอมาหลายองค์ มันก็เหนื่อยละสิ แขวนคอยังไม่พอ ยังห้อยอีกเต็มตัว เดินก็กระทบกันเสียงดังกรุ๊งกริ๊ง ชั่งหลงใหลไปได้ มันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์นะ พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยพาทำ เรายังหลงทาง ลูบคลำหาอยู่ มันจะทำให้เสียเวลานะ"... ธรรมจริงจากใจหลวงพ่อ หลั่งไหลกระแทกใจผู้เป็นศิษย์อยู่พักหนึ่ง สุดท้าย หลวงพ่อก็เมตตากล่าวปลอบใจว่า ..."ยังดีอยู่ ที่พระเครื่องพาให้หันมาปฏิบัติธรรม ก็ยังนับว่าพอมีคุณอยู่บ้าง"... 

            อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลวงพ่อแสดงธรรม ด้วยการกระแทกกิเลสแบบตรงๆ ลูกศิษย์ผู้มาใหม่ ถึงกับอึ้ง จึงย้อนจิตน้อมพิจารณาตามด้วยสติด้วยปัญญา ในที่สุดก็ลงใจในธรรมนั้น อย่างหมดข้อสงสัย ใจก็เบาสบายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  

            อีกหลายปีต่อมา หลวงพ่อได้เฉลยในภายหลังว่า หลังจากที่หลวงพ่อได้แสดงธรรมแก่ลูกศิษย์ผู้มาใหม่จบลง จิตของบุรุษผู้นี้ได้สว่างไสว  จึงเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ในวาระจิต วาระธรรม ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ล่วงรู้วาระว่า จะยกเอาข้อธรรมบทใด มาแสดงให้ลูกศิษย์ละวางกิเลสได้ และนับตั้งแต่บัดนั้นมา บุรุษผู้นั้น ก็ได้ละวางพระเครื่องทั้งหมดลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยเข้าใจอย่างถ่องแท้ตามความเป็นจริง ดังธรรมที่หลวงพ่อได้แสดงแล้วว่า... "บุญของตนเองเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งแห่งตน"... หาใช่วัตถุนอกกาย แม้จะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ก็หาใช่ที่พึ่งที่แท้จริงไม่ ให้ดำเนินปฏิปทาตามแนวทางที่พระพุทธองค์ประทานไว้  เมื่อเข้าใจและละวางสิ่งลูบคลำในหนทางปฏิบัติได้แล้ว "สีลัพพตปรามาส" ก็เบาบาง ใจก็สว่างไสว  เพราะได้ละวางกิเลสไปตามลำดับ









พระสมเด็จวัดระฆังบางส่วน
สมบัติที่หลงหามาได้ กว่าจะละวางลงได้
ก็ต้องใช้เงินหมดไป หลักล้านบาท


🔹2🔹 🔶 ใจถึงใจ 🔶

            ต่อมา คืนที่สอง วันที่ 6 เมษายน 2555 หลวงพ่อและชาววัดโคกปราสาท ได้พักค้างคืนภาวนาอยู่ในสวนไม้สักของญาติคุณปลัดโจ๊ก ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จ.แพร่ ขณะที่ภาวนา บุรุษผู้หนึ่ง ได้พิจารณาข้อธรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะความซาบซึ้งในปฏิปทาของหลวงพ่อว่า บัดนี้เราได้พบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่แท้จริงแล้ว จิตจึงโน้มเข้าไปกราบแทบเท้าองค์ท่าน พร้อมกับอธิษฐาน ขอเป็นลูกศิษย์ท่านจนหมดใจ พลันทันใด จิตก็สะท้านหวั่นไหว และแผ่ซ่านไปทั้งกายและใจ เสมือนท่านได้ส่งกระแสจิตสะท้อนกลับมา ใจจึงปีติยินดี จนกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ พอออกจากสมาธิแล้ว หลวงพ่อหันหน้ามามองแล้วยิ้ม พร้อมกับเอ่ยขึ้นมาเป็นเชิงนัยว่า... "เป็นอย่างไรบ้างด็อกเตอร์ รู้เห็นอะไรบ้างละ"... เขาน้อมรับว่า... "ครับ ข้าน้อยรู้แต่ว่า เหมือนหลวงพ่อได้ส่งกระแสจิตกลับมา ข้าน้อย"... 

🔹3🔹 🔶 กิเลสซ้อนกิเลส 🔶

           ต่อมา ในค่ำคืนที่สาม วันที่ 7 เมษายน 2555 ณ อ่างเก็บน้ำเชิงเขาดอยม่อนพระธาตุ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ขณะที่บุรุษผู้หนึ่ง นั่งภาวนาอยู่ใกล้กับหลวงพ่อด้วยอาการสำรวม เพราะความเกรงในการหยั่งรู้วาระจิตของท่าน จึงทำให้เขาระวังในความคิดทั้งหลาย ที่จะไปกระทบกับท่าน เพราะคิดว่า ท่านกำลังตามดูจิตของตนอยู่ จึงทำให้มีสติตามรู้อาการที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งหก ขณะใดจิตมันเฉออกไปคิดนอกกายและใจ สติก็ดึงกลับมาสู่ปัจจุบันธรรมได้ไวขึ้น 

           ต่อมา ได้มีสภาวธรรมบางอย่างบังเกิดขึ้น คือ ในขณะที่ภาวนา ปรากฏว่าท้องมันร้องดังขึ้นมาด้วยความหิว ทันใดนั้น พลันถ้วยกาแฟอันสวยงามก็ปรากฏขึ้นมา พร้อมกับส่งกลิ่นหอมอันอบอวล ชวนให้เกิดความหิวขึ้นมาทันใด แต่ไม่นาน สติก็ระลึกรู้ได้ทันท่วงทีเช่นกันว่า... "เฮ้ย มึงเป็นกิเลสนี่ มึงปรุงขึ้นมา กูทุบมึงเดี๋ยวนี้".... ปรากฏว่า ถ้วยกาแฟได้แตกกระจายตามที่จิตสั่งทันที แต่แล้วถ้วยกาแฟพร้อมกลิ่นหอมก็กลับปรากฏขึ้นมาอีก จิตก็ทุบมันแตกเปรี้ยงไปอีก เกิดขึ้นเร็วก็ทุบเร็ว สู้กันไปหลายนาที ไม่นาน  "ผู้รู้" ก็ผุดขึ้นมาว่า... "เฮ้ย เราปรุงกิเลสขึ้นมาทั้งคู่นี่ จิตปรุงถ้วยกาแฟพร้อมกลิ่นหอมขึ้นมาเอง แล้วจิตก็ปรุงอำนาจไปทุบมัน โอ้ตายแล้ว มันเป็นกิเลสทั้งคู่นี่" ...พลันทันใด ทั้งภาพถ้วยกาแฟและการทุบถ้วยกาแฟ ก็ได้อันตรธานหายไปในพริบตา เรื่องที่เกิดขึ้นและผ่านมาเมื่อสักครู่ มันดับไปทันทีเป็นอัตโนมัติ คงเหลือไว้แต่ความสงบ สว่างและเบาสบาย  

            หลังจากได้ออกจากสมาธิแล้ว หลวงพ่อท่านเมตตาเอ่ยให้กำลังใจว่า... "ดีแล้ว ถูกแล้ว ให้เพียรเอานะ"...

🔹4🔹 🔶 อัศจรรย์การกำเนิดของพื้นโลก 🔶

            หลังจากเกิดสภาวธรรมถ้วยกาแฟแล้ว ราวเที่ยงคืน หลวงพ่อบอกบุรุษผู้เป็นศิษย์ใหม่ ให้ไปเดินจงกรมใกล้กับตลิ่งริมอ่างน้ำ เขาจึงขอปลีกตัวออกไป ขณะเดินจงกรมตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมง เขาพยายามมีสติรู้เท่าทันอายตนะที่เข้ามากระทบกายใจ และพิจารณาธาตุทั้งสี่สลับกันไป เมื่อพิจารณาไปได้ระยะหนึ่ง ขณะเดินไปสุดทางจงกรม เขาได้ยืนหลับตา เพื่อพิจารณาธรรม พลันจิตได้สงบลงทันที พร้อมกับปรากฏมีภาพพื้นดินและป่าเขาที่เขายืนอยู่   ได้กลายเป็นดินง่วนสีขาวนวล ราบเรียบไปหมด เสมือนเป็นการเกิดใหม่ของภูเขาลูกนี้ พร้อมกับเปลี่ยนสภาพไปเป็นดิน หิน น้ำ หญ้า มีลมฝน มีหนองน้ำ มีป่า ต้นไม้ เกิดแล้วก็ตายไป ภาพเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เสมือนเป็นการฉายภาพย้อนอดีต ตั้งแต่การเกิดขึ้นของผิวโลกบริเวณนี้ แต่เนื่องจากเป็นภาพนิมิต ที่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ๋วเป็นครั้งแรก จึงไม่แน่ใจว่า นี่คืออุปทานหรือไม่ จึงได้พยายามกำหนดจิตไปในเรื่องอื่น แต่การเปลี่ยนแปลงของบริเวณนั้น ก็ยังปรากฏเป็นฉากๆ ฉายต่อเนื่องไป จนกลายเป็นสภาพในปัจจุบัน สติปัญญาจึงได้พิจารณาสัจธรรม เห็นความเป็นอนิจจัง มีความเปลี่ยนแปลงไปไม่สิ้นสุด มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เห็นไตรลักษณ์เกิดขึ้นจริงที่ใจ 

            เมื่อพิจารณาได้พอสมควรแล้ว ก็ถอนจิตออกมา แล้วเดินจงกรมต่อไป เมื่อมาถึงปลายทางอีกด้านหนึ่ง ก็หยุดยืนมองไปที่ภูเขาอีกลูกหนึ่ง แล้วหลับตา ก็เกิดภาพทำนองเดียวกันอีก สิ่งที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าอะไร ก็ไม่ทราบได้ หรือจะเป็นอะไรก็ชั่งมันเถอะ เพราะที่สุดมันก็เป็นอนัตตาอยู่ดี จึงละวางความยินดีกลับคืนสู่ธรรมชาติของมัน วาระธรรมและการเดินจงกรมของวันนี้ ก็จบลง


อ่างเก็บน้ำ บริเวณดอยม่อนพระธาตุ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
ดร.นนต์ ถ่ายภาพย้อนหลัง ปี 2559


🔹5🔹 🔶 จิตสว่างจ๊าด 🔶

           ค่ำคืนที่สี่ วันที่ 8 เมษายน 2555 หลวงพ่อและคณะวัดโคกปราสาท ได้พักค้างคืนภาวนา ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำ ที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่  ขณะที่คณะภาวนาอยู่ในศาลา บุรุษผู้หนึ่ง ยังมีสติเฝ้าระวังความคิด เพราะทราบว่าพ่อแม่ครูอาจารย์คอยดูอยู่ อีกทั้งหลวงพ่อแนะนำอุบาย ให้ภาวนาด้วยการละวางความคิด ทำใจให้สบายๆ คล้ายกับการนอนหลับ แต่สติต้องไม่ขาด พอดูลมหายใจเข้าออกนานเข้า จิตก็สงบลง พร้อมกับปรากฏมีแสงสว่างไสว สว่างวาบ พุ่งจ๊าดออกไป แสงนั้นประมาณแสงสว่างของสปอร์ตไลท์ หรือไฟสูงหน้ารถยนต์  จิตไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงเกิดปีติยินดีและตื่นเบิกบาน แม้สภาวะนั้น จะเป็นเพียงขั้นต้นของนักภาวนา แต่ก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จึงนับว่าเป็นกำลังใจอย่างดีที่สุด

            อย่างไรก็ตาม ขณะที่คณะกำลังภาวนา หลวงพ่อได้พิจารณาข้อติดขัดของลูกศิษย์ ด้วยข่ายปัญญาญาณของท่าน พอออกจากสมาธิแล้ว หลวงพ่อจึงเมตตากระซิบกับบุรุษผู้เป็นศิษย์ใหม่ว่า "ด็อกเตอร์ ยังหลงอยู่มากนะ ค่อยๆละวางลงนะ เดี๋ยวก็ดีเอง" ผู้เป็นศิษย์น้อมรับโดยดุษฎีอย่างทันทีว่า... "ข้าน้อย"... ด้วยเข้าใจในความหมายที่พ่อแม่ครูอาจารย์เอ่ย จึงไม่จำเป็นต้องถามท่านอีก นั่น จึงนับเป็นความเมตตาของพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่มีต่อศิษย์อย่างหาที่สุดประมาณมิได้  

🔹6🔹 🔶 ธรรมจากสัญญา 🔶

           หลังจากหลวงพ่อ ได้พาออกจากการนั่งสมาธิแล้ว หลวงพ่อได้พาลูกศิษย์เดินจงกรมไปตามเส้นทางทั้งบนถนนหลังอ่างเก็บน้ำ และเดินวนไปตามถนนรอบที่ทำการ ระยะทางหลายกิโลเมตร เดินอยู่หลายรอบจนเลยเวลาเที่ยงคืน ขณะเดียวกัน บุรุษผู้หนึ่ง ได้เดินจงกรมตามหลังติดกับหลวงพ่อ สติจึงเฝ้าระวังอยู่กับการเดิน สลับกับการพิจารณาอยู่กับสิ่งที่มาปะทะกับอายตนะ บางช่วงได้หยิบยกเอาข้อธรรมตามสัญญาขึ้นมาพิจารณา ขณะพิจารณาจิตก็รู้ว่า หลวงพ่อเฝ้าดูอยู่ จึงเอ่ยในใจไปถึงท่านว่า... "ข้าน้อย พิจารณาจากสัญญา ยังไม่เห็นจริง แต่ขอพิจารณาอย่างนี้ไปก่อน ข้าน้อย"... พลันเสมือนหลวงพ่อได้ตอบกลับมาว่า... "ใช่แล้ว"... เมื่อพิจารณาธรรมเพลินไปได้ระยะหนึ่ง สติระลึกได้ว่า... "นี่ก็เป็นแต่สัญญาดอก"... พลันคลื่นก็ตอบมาทันทีว่า... "ใช่แล้ว"... เมื่อระวังธรรมสัญญาปรุงแต่งนานเข้า สติได้เคลื่อนไปอยู่กับอาการเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะการเดินขึ้นลงบนถนนหลังอ่างน้ำเป็นเวลานาน จึงวางธรรมในสัญญาลง เพราะการย้อนกลับไปพิจารณาเวทนาและความเหนื่อยล้าแทน  กอรปกับ มีลูกศิษย์บางคนได้โอดโอยบ่นพึมพำในใจว่า "เมื่อไรหลวงพ่อจะพาหยุดสักที" หลวงพ่อได้ยินเสียงความคิดอันอื้ออึง จึงเห็นใจ เพราะใช้เวลาเดินก็นานแล้ว หลวงพ่อจึงให้หยุดพักผ่อนตามอัธยาศัย ในเวลาเลยเที่ยงคืนไปแล้ว

🔹7🔹 🔶 เสียงขู่ปริศนา 🔶

          ต่อมา ในวันสุดท้าย ตอนเย็นของวันที่ 9 เมษายน 2555 ขณะที่คณะเดินทางกลับมาถึงเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา หลวงพ่อและชาวคณะได้แวะพักสวดมนต์และภาวนาที่ริมเขื่อนลำตะคอง อย่างไรก็ตาม ขณะภาวนา ได้มีผู้ไม่มีตัวตนเข้ามาแสดงฤทธิ์ ด้วยการเนรมิตลมพัดแรงมาเป็นระลอกๆ  ขณะเดียวกัน บุรุษผู้หนึ่งและป้าๆอุบาสิกาบางท่าน ได้ยินเสียงผู้ไม่มีตัวตน โยนอะไรบางอย่าง คล้ายกับก้อนหินใส่หมู่คณะ เสียงดังตุ๊บ แล้วก็กลิ้งเสียงดังผ่านหน้าไป เพื่อเป็นการขับไล่ แต่เมื่อไม่มีผู้ใดสนใจ ผู้ลึกลับจึงเปล่งเสียงดังคำรามอันน่ากลัวว่า... "มาทำไม มาทำอะไร เราไม่ชอบ" บุรุษผู้นี้ถึงกับสะดุ้ง แต่ก็ไม่ได้หวาดกลัว มีแต่สังเวชในกรรมที่จะบังเกิดขึ้นแก่เขา

            ต่อมา หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า พญานาคตนหนึ่ง เป็นผู้มีมานะทิฏฐิสูงมาก ไม่ยอมใคร เพราะคิดว่าตนเป็นใหญ่ที่สุดในเขื่อนลำตะคอง จึงไม่พอใจที่คณะมาพักภาวนาที่นี่ จึงเข้ามาก่อกวน แต่ภายหลังเขาได้สำนึก จึงได้ขอขมากรรมต่อหลวงพ่อ และจะขอดูแลเป็นอย่างดี หากหลวงพ่อจะมาพักที่นี่อีก

           หมายเหตุ... ผู้เขียนขอขมากรรมต่อหลวงพ่อ หากมีข้อความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะความจำและสติปัญญาของผู้เขียนยังน้อยอยู่ จึงขอให้ท่านทั้งหลาย จงพิจารณากันเอาเองเถิด

           ขอเจริญในธรรม
           "อกุปปธรรม" ศิษย์วัดโคกปราสาท
           บันทึกย้อนหลัง 23 กุมภาพันธ์ 2560

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

(002) คำสอนของหลวงปู่โต




สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นอมตมหาเถระ ที่มีเกียรติคุณเป็นที่ปรากฏอย่าน่าอัศจรรย์ มีปัญญาเฉียบแหลมแตกฉานในทางธรรม เป็นเลิศทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา พระคาถาที่ทรงอานุภาพยิ่งของท่าน คือ คาถาชินบัญชร

ชาติกาล 17 เมษายน พ.ศ. 2331 
ชาติภูมิ บ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออก กรุงธนบุรี 
บรรพชา เมื่ออายุได้ 13 ปี อุปสมบท เมื่ออายุได้ 20 ปี 
ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2408 
มรณภาพ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 สิริรวมชนมายุได้ 84 ปี



คติธรรมคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)



เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน


หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3.พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเรา เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง



ทางแห่งความหลุดพ้น
เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้น จึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้ง เพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน


แต่งใจ
ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?


กรรมลิขิต
เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต


อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง



เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ


นักบุญ
การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะ ทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น


ละความตระหนี่มีสุข
ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้น จึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน


อย่าเอาเปรียบเทวดา
ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดี นี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญและบาปแห่งหนึ่ง อันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย


บุญบริสุทธิ์
การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้น ก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้นที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน


สั่งสมบารมี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน


เมตตาบารมี
การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขา ท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มาก และทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน


แผ่เมตตาจิต
ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า


อานิสงส์การแผ่เมตตา
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไป เมื่อจิตของเรามีเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้


เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้


ประโยชน์จากการฝึกจิต
ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว


คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม


คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

(001) ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)





จากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากเอกสารต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม โต นามฉายาว่า พรหมรังสี เกิดในรัชกาลที่ 1 ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาพระบิณฑบาต มารดาชื่อ ละมุด (บางคนบอกว่าชื่อ เกศ) เดิมเป็นชาวตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (อำเภอเมือง) จังหวัดอุตรดิตถ์ บิดาไม่ปรากฏชื่อ (บางตำราบอกว่าบิดาคือ ร. 1 บางตำราบอกว่า ร.2) ขณะที่ท่านเป็นทารกนั้น ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านยืนนั่งได้ ครอบครัวจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร กล่าวกันว่า ขณะที่ท่านวัยเยาว์นั้น ท่านได้ศึกษาอักขรสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) วัดอินทรวิหาร ครั้นอายุ 12 ปี (พ.ศ. 2342) ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายมาอยู่วัดระฆังเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งแต่บัดนั้น ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก จึงทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ครั้นอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้บวชเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บางท่านบอกว่า บวชที่วัดระฆังโฆสิตาราม) เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2350 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุเป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

 
การศึกษาเบื้องต้นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น นอกจากศึกษาคันถธุระ (พระปริยัติธรรม) ที่มีความเชี่ยวชาญดีแล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนาธุระอย่างจริงจังอีกด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ 2 การศึกษาวิปัสสนาธุระมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยปรากฏในจดหมายเหตุว่าเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2364 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ ทั้งในกรุงและหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ มารับพระราชทานบริขารอันควรแก่สมณะฝ่ายอรัญวาสี แล้วแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและคฤหัสถ์ รวม 73 รูป (พระครูปลัดสมคิด สิริวฑฒโน. 2550: 65)  จึงสันนิษฐานว่า สมเด็จโตคงได้ศึกษาจากหลายสำนักเช่น สำนักเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) วัดอินทรวิหาร และสำนักเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ(อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม รวมทั้งได้เรียนจากพระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรีด้วย พระอาจารย์แสงรูปนี้กล่าวกันว่า เป็นผู้ทรงคุณในทางวิทยาคม สามารถย่นเวลาและหนทางได้ นอกจากนั้น ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูงและการสร้างพระเนื้อผงกับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน) และสันนิษฐานว่า สมเด็จโตได้ร่วมปลุกเสกพระเนื้อผงนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สมเด็จโตมีอัธยาศัยไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะแตกฉานในพระไตรปิฎก และเก่งด้านพระปริยัติธรรม แต่ก็ไม่เข้าสอบเป็นพระเปรียญ แม้แต่รัชกาลที่ 3 จะทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอเสีย และมักหลบออกไปธุดงค์ตามหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งไปไกลถึงลาวและเขมรก็มี แต่ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านจึงยอมรับเอาสมณศักดิ์ดังที่ปรากฏคือ ปี พ.ศ. 2395 เป็นพระธรรมกิติ ต่อมาอีกสองปีคือ พ.ศ. 2397 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. 2407 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพในคืนวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือนแปด ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 เวลา 2 ยาม คำนวณอายุได้ 85 ปี (ประวัติอย่างละเอียด โปรดศึกษาในหนังสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2550 และเล่มอื่นๆ)
จากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ของสุชาติ มั่นคงพิทักษ์กุล (2552)  รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ที่ผู้เขียนค้นพบ สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ตามหนังสือและบทบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งช่วงเวลาของการสร้างพระพิมพ์สมเด็จ ออกเป็น 5 ช่วง พอสรุปได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2361 2385  ในช่วงของรัชกาลที่ 2 และ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  อายุประมาณ 30-54 ปี ถือเป็นช่วงที่ท่านเริ่มมีชื่อเสียงในด้านการเทศน์  ในช่วงปี พ.ศ. 2363-2365 สมเด็จโตได้มีโอกาสร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูง รวมทั้งการออกแบบและมวลสารในการสร้างพระพิมพ์กับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน)
ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2385 2393 ในช่วงของรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 54-62 ปี  หลังจากได้กลับไปจัดงานศพให้โยมมารดา ตอนอายุ 54 ปี จากนั้นท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการธุดงค์ ทั้งทางเหนือ ลาว และเขมร ต่อมาได้สร้างพระนอนที่วัดขุนอินทร์ประมูล อ.ป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ในช่วงปี พ.ศ. 2386 ได้มีการสร้างพระสมเด็จพิมพ์เกศไชโย เนื่องจากพบหลักฐานคือ มีพระสมเด็จพิมพ์เกศไชโยถูกบรรจุอยู่ในฐานรูปหล่อองค์เหมือนสมเด็จโต รวมทั้งได้สร้างพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร  วัดกลางคลองข่อย ตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2390 และ ในช่วงเวลาใกล้กัน ได้สร้างพระเจดีย์นอนที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ตำบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว
         ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2394 - 2407 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 63-76 ปี เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งราชาคณะตั้งแต่ที่ พระธรรมกิติ (พ.ศ. 2395) พระเทพกระวี (พ.ศ. 2397) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2407) ในช่วงเวลานี้ น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จ เนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ทางด้านการเมืองเช่น การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ในปี พ.ศ. 2394 และเหตุการณ์พระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2396  ต่อมาท่านได้สร้างพระนั่งโต ที่วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง ในปี พ.ศ. 2406-2407 รวมทั้งได้สร้างพระสมเด็จ จำนวน 84,000 องค์ มีพิมพ์ 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น ฯลฯ เพื่อบรรจุไว้ในกรุวัดดังกล่าวด้วย ช่วงนี้หลวงวิจารณ์เจียรนัย ซึ่งเป็นหนึ่งในช่างของกรมช่างสิบหมู่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการออกแบบพิมพ์พระสมเด็จ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี เจ้ากรมช่างสิบหมู่ รวมทั้งมีความผูกพันกันกับเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้ากรมท่า และกลุ่มวังหน้า ในการสร้างพระสมเด็จและพระพิมพ์ต่างๆ ถวายแด่องค์หลวงปู่โตเพื่ออธิษฐานจิต 


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี เจ้ากรมช่างสิบหมู่

เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้ากรมท่า


ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2408 - 2411 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 77-80 ปี  ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการสร้างพระสมเด็จเพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลองในวัดบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) มิใช่ที่พระธาตุพนม จ.นครพนม และเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวรรคต ในปี พ.ศ. 2408 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2410 ท่านเริ่มสร้างพระยืนโต ที่วัดอินทรวิหาร จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุวัดอินทรวิหารด้วย ขณะเดียวกันท่านยังได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระนามว่า พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช ที่วัดกุฎีทอง (วัดพิตเพียน) ตำบลพิตเพียน  อำเภอมหาราช  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย
ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2411–2415 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ต่อเนื่องจนกระทั่งมรณภาพ ดังจะเห็นได้จากในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2411 มีการสร้างพระพิมพ์ พระบูชา และสิ่งมงคลต่างๆ จำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ พิธีพุทธาภิเษกและอธิษฐานจิตจึงเป็นวาระอันยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 มีการสร้างพระสมเด็จเบญจรงค์หรือเบญจสิริ เพื่อเตรียมถวายรัชกาลที่ 5 ที่ได้ส่วนผสมหลักมาจากประเทศจีนโดยเจ้าประคุณกรมท่า (ท้วม บุนนาค) ซึ่งพระชุดนี้เรียกว่า พระสมเด็จวังหน้า ต่อมาจึงได้นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดพระแก้วในภายหลัง ในช่วงปี พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วง ได้มีการขอแม่พิมพ์จากสมเด็จโต เพื่อสร้างพระสมเด็จจำนวน 84,000 องค์ เพื่อบรรจุลงในกรุเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) แต่ได้สร้างและทำพิธีที่วัดอินทรวิหาร ในปีเดียวกันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จโต ยังสร้างพระนอนวัดสะตือ จังหวัดอยุธยา จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุนี้ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มรณภาพ ท่านเจ้าพระคุณธรรมถาวร ได้นำพระสมเด็จออกมาแจกในงานศพจำนวนมากกว่าสามหมื่นองค์ และเป็นพระสมเด็จที่ได้รับการลงรักปิดทองส่วนใหญ่ และอีกบางส่วนจำนวนมากมีผู้นำไปไว้ที่หอสวดมนต์ และบนเพดานพระวิหารของวัดระฆังด้วย

ขอเจริญในธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล